คลังบทความของบล็อก

ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยง


แยกตามความเค็มของน้ำได้เป็น 2 แบบ คือ

1.       การเลี้ยงกุ้งขาวด้วยน้ำความเค็มต่ำ
การเลี้ยงกุ้งขาวในพื้นที่น้ำจืดและในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนใหญ่จะเลี้ยงโดยใช้น้ำความเค็มต่ำ  ภิญโญ (2545) อธิบายถึงรายละเอียดวิธีการเลี้ยงกุ้งขาว ตั้งแต่การเตรียมบ่อ  การให้อาหาร  ตลอดจนการจัดการในระหว่างการเลี้ยง  โดยใช้น้ำความเค็มต่ำมากจนเกือบจะเป็นระดับที่ถือว่าเป็นน้ำจืด  โดยทั่วไปเกษตรกรจะซื้อน้ำเค็มความเข้มข้นสูงจากนาเกลือใส่รถบรรทุกน้ำคันละประมาณ 12-13 ตัน ความเค็ม 100-200 พีพีที มาเติมในน้ำจืดเพื่อให้ได้ความเค็มประมาณ 3-4 พีพีที    ส่วนใหญ่จะกั้นคอกก่อน มีการกั้นคอกโดยใช้ผ้าพลาสติกพื้นที่ประมาณ 150 ตารางเมตร ความลึกประมาณ 80 เซนติเมตร   แล้วมีเติมน้ำจากนาเกลือเข้าไปในคอกจนได้ความเค็มประมาณ 8-10 พีพีที   หลังจากนั้นก็จะใช้ลูกกุ้งซึ่งปรับความเค็มจากโรงเพาะฟักมาแล้วโดยลูกกุ้งขาวระยะโพสลาร์วา 10-12 (พี 10-12) มาปล่อยในคอก อนุบาลในคอกประมาณ 3-4 วันก็เปิดคอกออกมา จะอนุบาลในคอกไม่นาน เนื่องจากกุ้งขาวจะกินอาหารเก่ง และว่ายน้ำตลอดเวลาเพราะฉะนั้นจะไม่นิยมอนุบาลนานเกินไป  เพราะอาจจะมีการกินกันเอง

หนึ่งเกษตรกรจะไม่ทำคอกเหมือนกุ้งกุลาดำ คือเตรียมน้ำความเค็มประมาณ 3-5 พีพีที ทั้งบ่อแล้วให้ทางโรงเพาะฟักปรับความเค็มของลูกกุ้งจนมาอยู่ที่ความเค็มต่ำที่สุดประมาณใกล้เคียงกับที่จะมาปล่อยในบ่อ แล้วนำลูกกุ้งมาปล่อยโดยตรงโดยที่ไม่มีการกั้นคอก เป็นอีกวิธีหนึ่งของการเลี้ยงกุ้งขาวในพื้นที่ความเค็มต่ำ  การปล่อยลูกกุ้งโดยตรงในบ่อจะให้อัตรารอดสูงกว่า ที่ผ่านมาจะปล่อยลูกกุ้งไม่หนาแน่นมากเมื่อเทียบกับการเลี้ยงริมชายฝั่งทะเล โดยทั่วไปจะมีการปล่อยลูกกุ้งในอัตราความหนาแน่นประมาณ 70,000-80,000 ตัว/ไร่   ผลผลิตเมื่อเทียบกับกุ้งกุลาดำแล้วผลผลิตของกุ้งขาว ถ้าปล่อยลูกกุ้ง 100,000 ตัว เลี้ยงด้วยความเค็มต่ำจะมีผลผลิตประมาณ 1,000 กิโลกรัม (1 ตัน)หรือมากกว่า 1 ตันเล็กน้อย ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเลี้ยงให้ได้กุ้งขนาดประมาณ 60-80 ตัว/กิโลกรัม คือเลี้ยงประมาณ 3 เดือน จะมีการจับกุ้งบางส่วนออกไปขายก่อยโดยมีการใช้อวนตาห่างเพื่อลากเอากุ้งขนาดใหญ่ในบ่อประมาณครึ่งหนึ่งออกไปขาย     หลังจากนั้นก็จะมีการเติมน้ำเข้ามาเพราะก่อนจับจะมีการลดน้ำลงไปส่วนหนึ่ง ซึ่งถ้าน้ำลึกเกินไปจะใช้อวนทับตลิ่งลากลำบาก จึงต้องมีการลดน้ำลง แล้วก็ใช้อวนตาใหญ่ลาก ก็จะได้กุ้งตัวใหญ่อาจจะเป็นขนาด 60 ตัว/กิโลกรัมขึ้นมาขายก่อนครึ่งบ่อ จากนั้นจะมีการเติมน้ำจืดเข้าไปจนเต็มบ่อ หลังจากนั้นจะเอาน้ำเค็มมาเติมอีกรอบหนึ่งเพื่อเพิ่มความเค็ม กุ้งที่เหลือก็จะมีการเจริญเติบโตดีขึ้น   และเลี้ยงต่ออีกประมาณ 2 สัปดาห์  จะทำให้กุ้งในบ่อโตขึ้นมา เช่น ขนาด 80 ตัว/กิโลกรัมก็จะกลับมาเป็น 60 ตัว/กิโลกรัม การเลี้ยงด้วยน้ำความเค็มต่ำในพื้นที่น้ำจืดก็จะเลี้ยงแบบนี้ คือจับ 2 ครั้ง ในบางส่วนของพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำบางปะกงซึ่งใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกง ในบางฤดูและบางพื้นที่มีความเค็มตลอดทั้งปีแต่ความเค็มไม่สูง บางช่วงเวลาก็จะซื้อน้ำเค็มจากนาเกลือมาเติม ส่วนใหญ่จะปล่อยกุ้งหนาแน่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในฟาร์มที่มีความพร้อม มีเครื่องให้อากาศเต็มที่ ความเค็มของน้ำไม่ต่ำกว่า 3 พีพีที ฟาร์มเหล่านี้มีการปล่อยลูกกุ้งค่อนข้างหนาแน่นแทนที่จะปล่อยไร่ละ 70,000-80,000 ตัว จะปล่อยลูกกุ้งความหนาแน่นประมาณ 100,000-120,000 ตัว/ไร่ หมายถึงต้องมีน้ำถ่ายพร้อม ความเค็มไม่หมดในระหว่างการเลี้ยง


2.                   การเลี้ยงกุ้งขาวด้วยน้ำความเค็มปกติ
การเลี้ยงกุ้งขาวในพื้นที่ภาคใต้ที่ใช้น้ำความเค็มปกติ คือความเค็มประมาณ 10 พีพีทีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีการปล่อยลูกกุ้งอย่างหนาแน่นมากกว่า 120,000 ตัว/ไร่ ผลผลิตประมาณ 2 ตัน/ไร่ อัตรารอดประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นกระแสผลผลิตของกุ้งขาวที่ออกมามากในช่วงกลางปี พ.ศ. 2546 โดยเฉพาะการเลี้ยงทางภาคใต้โดยใช้น้ำความเค็มปกติ ทำให้ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งไม่เคยเลี้ยงกุ้งขาวมาก่อน หันมาเลี้ยงกุ้งขาวมากขึ้น  โดยเฉพาะในชายฝั่งทะเลอันดามันมีผลผลิตสูงมากประมาณ 3-4 ตัน/ไร่  โดยมีการปล่อยลูกกุ้งอย่างหนาแน่นมากกว่า 150,000 ตัว/ไร่  บางรายมีการทยอยจับกุ้งออกไป  เพื่อให้กุ้งที่เหลือในบ่อมีโอกาสโตขึ้น  การเลี้ยงกุ้งขาวด้วยน้ำความเค็มปกติจะได้ผลดีกว่าน้ำความเค็มต่ำ  เนื่องจากมีการถ่ายน้ำในปริมาณที่มากในช่วงท้ายๆ ของการเลี้ยง
ในอนาคตแหล่งผลิตกุ้งขาวที่สำคัญในประเทศไทยน่าจะเป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งของภาคใต้ที่มีความพร้อมสูงในด้านอุปกรณ์ เครื่องให้อากาศ และบ่อพักน้ำ และการคัดเลือกลูกกุ้งคุณภาพจากสายพันธุ์ที่ดี จะทำให้การเลี้ยงได้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำลง สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม